สร้างนิสัยรักการอ่านให้เด็ก ด้วยการปรับพฤติกรรมพ่อแม่
ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้มีข้อมูลต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆการจะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกกลมๆ ใบนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่หากเราได้เรียนรู้ในทุกสิ่งที่เราต้องการก็ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว
ดังนั้นในการเรียนการสอนสำหรับเด็กยุคใหม่ จำเป็นต้องสอนวิธีการแสวงหาความรู้และสอนให้คิดเป็น
เพื่อเด็กทุกคนจะรู้ว่าตนเองสนใจและต้องการสิ่งใดตามแต่ช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปของชีวิต และวิธีการสำคัญในการแสวงหาไม่ว่ายุคสมัยใดเริ่มต้นจาก "การอ่าน"
แต่ทว่าสภาพสังคมในยุคที่พ่อแม่มุ่งผลิตเม็ดเงินจนไม่มีเวลาให้กับลูก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าพ่อแม่ที่อ่านนิทานให้ลูกฟังมีอัตราน้อยกว่าพ่อแม่ที่เปิดทีวีให้ลูกดู ทั้งที่การดูทีวีไม่ช่วยให้สมองเจริญเติบโตแถมยังอาจลดการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทบางตัวที่ไม่ได้ใช้ในระหว่างการดูทีวีด้วย
สถาบันสวัสดิการและพัฒนาการเด็ก มูลนิธิเด็ก ได้สำรวจสถานการณ์การอ่านของเด็กไทย จำนวน 2,626 คน จาก 165 โรงเรียน เมื่อปีการศึกษา 2544 พบว่า มีเด็กที่ไม่อ่านหนังสือทุกวัน 69.36% มีโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาพฤติกรรมการอ่านได้ต่อเนื่อง 42.07% ส่วนครูที่รับผิดชอบงานห้องสมุดกว่า 91.03%ก็ไม่ได้จบวิชาบรรณารักษ์โดยตรง และกว่า 77.24%ก็ไม่เคยเข้าอบรมการจัดกิจกรรมห้องสมุดจากต้นสังกัดเลย
นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการสถาบันสวัสดิการและพัฒนาการเด็ก มูลนิธิเด็ก กล่าวว่าการที่โรงเรียนไม่สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการอ่านของเด็กได้อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีสถานที่สำหรับจัดเป็นห้องสมุดผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญของงานส่วนนี้ ครูที่ดูแลห้องสมุดต้องรับผิดชอบงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันจึงไม่มีเวลาจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการอ่านในโรงเรียนให้มีคุณภาพที่สำคัญขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณจัดซื้อหนังสือทำให้เด็กไทยขาดนิสัยรักการอ่าน ทั้งที่ต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ช่วงปฐมวัย
การปลูกฝังให้คนไทยรักการอ่านเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งทำ ที่สำคัญต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
สมองมนุษย์เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ดังนั้นการฝึกนิสัยรักการอ่านจึงจำเป็นต้องพัฒนากันตั้งแต่วัยทารก เท่ากับว่าครอบครัวคือจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมการอ่าน ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ ที่กระตุ้นเร้าให้เด็กสนใจ
อย่างไรก็ดี ยังมีพ่อแม่บางคนที่จ้องให้ลูกอ่านแต่ตำราเรียน ห้ามยุ่งเกี่ยวกับหนังสือประเภทบันเทิง นิทาน นิยาย วรรณกรรมจนเด็กเกิดความหวาดกลัวว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องไม่ควรทำซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ในสิ่งรอบตัว และทำให้เด็กขาดการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ และรู้จักการเปรียบเทียบหนังสือหลากหลายประเภท ไม่สามารถเลือกอ่านหนังสือที่ดีด้วยตัวเองได้
นอกจากนี้บทบาทของหนังสือสามารถมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิต ครอบครัวชุมชน และสังคม เช่น การหาความรู้เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพหรือนำมาเป็นอาชีพเสริมหารายได้เพิ่มเติม หรือเติมเต็มสำหรับเด็กที่ขาดความอบอุ่น โดยให้หนังสือเป็นเพื่อนสร้างจินตนาการ คลายเครียด ใช้ลดทัศนคติและพฤติกรรมเชิงลบ เช่น หนังสือนิทาน
ที่จะนำไปสู่กิจกรรมที่เสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่างครอบครัวได้เป็นอย่างดี
น.ส.พรเข็ม วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า ยังมีเด็กอีกมากที่เมื่อหลุดจากระบบโรงเรียน ก็ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับหนังสือ ทั้งเด็กในชุมชนแออัด เด็กเร่ร่อน ชนกลุ่มน้อย ไร้สัญชาติ ทั้งที่หนังสือจะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาชีวิตให้อยู่รอดในสังคมปัจจุบัน ห้องสมุดจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่านที่ดี โดยเฉพาะห้องสมุดเปิด ซึ่งควรมีการกระจายให้ครอบคลุมในทุกชุมชน
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมีอาคารใหญ่โต เปิดแอร์เย็นเฉียบ เงียบสงบละม้ายคล้ายห้องดับจิต เพราะนอกจากไม่สร้างบรรยากาศให้อยากอ่านแล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ และยิ่งเป็นห้องสมุดโรงเรียน หรือห้องสมุดสำหรับเด็กแล้วควรยกเลิกกฎเกณฑ์การงดใช้เสียง เพราะธรรมชาติของเด็ก อย่างไรก็อยู่นิ่งๆ เงียบๆไม่ได้
ซึ่งการบังคับจะยิ่งกดดันทำให้เด็กห่างจากห้องสมุด
ขณะเดียวกัน บรรณารักษ์ต้องมีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น สนุกสนาน ผนวกกิจกรรมการเล่น เข้ากับจินตนาการตามข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งหากเด็กเสียงดัง เราก็ต้องเสียงดังไปด้วย เข้ากับเด็กให้ได้รวมถึงต้องกระตุ้นให้ผู้ปกครองเข้ามานั่งอ่านหนังสือเพื่อนำไปถ่ายทอดสู่ลูกหลานด้วย ที่สำคัญโรงเรียนต้องเลิกมองงานห้องสมุดและการส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านของเด็ก เป็นงานฝากอีกต่อไป
"การหิวหนังสือเราบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ความรู้สึกจะต่างจากการหิวเพราะขาดอาหาร แต่หากเรายังต้องการให้คนรุ่นใหม่ รู้จักคิด วิเคราะห์ พัฒนาและนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุดหน้า ก็ต้องให้เด็กได้สัมผัสและเรียนรู้การใช้หนังสือที่มีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์" น.ส.พรเข็ม กล่าวในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น