วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

บทความที่ 5

ทความส่งเสริมกระบวนการคิดสำหรับเด็ก โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นภเนตร ธรรมบวร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ
จากหนังสือ ๗๐ปีโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ



 ปัจจุบัน กระแสการพัฒนากระบวนการคิดในเด็กเล็กๆ กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีการกล่าวถึงพัฒนาการทางสมองของมนุษย์ และการพยายามหารูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางสมองของมนุษย์ให้มากที่สุด 

ความรู้ด้านพันธุกรรมของมนุษย์พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด หรือเผ่าพันธุ์ใดมีความแตกต่างกับทางพันธุกรรมไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่มนุษย์มีความแตกต่างกันเป็นผลจากการบ่มเพาะและสภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้ที่ให้มนุษย์ได้เกิดการบ่มเพาะจึงเป็นหนึ่งที่สอดคล้องกับพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย 

การส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ถือเป็นการจัดการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมองของมนุษย์ และยังถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย 

การฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทั้งนี้เพราะประสาทสัมผัสเปรียบเสมือนกับเสาอากาศ หรือตัวรับรู้สิ่งต่างๆ ของมนุษย์ ถ้าเครื่องรับมีประสิทธิภาพการเรียนรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ย่อมมีคุณภาพตามไปด้วย แต่ถ้าเครื่องรับขาดประสิทธิภาพในการรับรู้สิ่งต่างๆ หรือมีประสิทธิภาพไม่สูง ก็จะส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กมีคุณภาพต่ำ และการให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีเพียงใดก็ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูจะต้องช่วยกันฝึกประสาทสัมผัส แก่เด็ก 

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พี่ๆ ประถม 4 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้มีโอกาสเรียนรู้การฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 กับ ดร.ป๋อง หรือ ดร.เฉลิมพล เกิดมณี คุณครูนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค 

การฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 เริ่มต้นง่ายๆ จากการที่เด็กๆ สัมผัสกับสิ่งของในถุงผ้า โดยเด็กๆ จะต้องพยายามใช้ประสาทสัมผัสที่ตนที่มีอยู่ในการเก็บข้อมูลของสิ่งที่เด็กๆไม่สามารถมองเห็นให้ได้รายละเอียดมากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เด็กๆ จะต้องจดบันทึกข้อมูลเป็นอย่างดี เพื่อนำไปสู่การตั้งสมมุติฐานว่า สิ่งของที่อยู่ในถุงดำนั้นเป็นอะไร และสื่อสารให้เพื่อนในกลุ่มอื่นเข้าใจได้ เด็กๆ แต่ละกลุ่มต่างช่วยกันลูบคลำ และจดบันทึกข้อมูลของ สิ่งของที่อยู่ในถุงดำว่ามีลักษณะอย่างไร เล็ก หรือใหญ่ ผิวเรียบ หรือผิวขรุขระ 

เมื่อเด็กๆ จดบันทึกข้อมูลตั้งสมมุติฐานพร้อมทั้งวาดภาพของผลไม้ในถุงดำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เด็กๆ ก็ได้มีโอกาสแกะถุงดำเพื่อดูว่า สมมุติฐานที่ตนตั้งไว้นั้นถูกต้องหรือไม่ เด็กๆ หลายกลุ่มแสดงความดีใจเมื่อพบว่าสมมติฐานที่ตนตั้งไว้ถูกต้องขณะที่เด็กหลายคนพูดคุยถกเถียงกับเพื่อนในกลุ่มเกี่ยวกับข้อมูลที่ตนมี และสมมุติฐานที่ตนตั้งว่าเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริงอย่างไร 

ขั้นตอนต่อไปเป็นการฝึกการแยกแยะโดยผ่านการดมกลิ่นผลไม้ชนิดต่างๆ กัน เช่น กลิ่นส้ม กลิ่นแอปเปิล กลิ่นกล้วย และกลิ่นผลไม้รวม หลังจากที่เด็ก ได้เรียนรู้วิธีดมกลิ่นที่ถูกต้องว่าควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อประสาทรับกลิ่นของจมูกแล้ว ได้เรียนรู้วิธีดมกลิ่นที่ถูกต้องว่าควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อประสาทรับกลิ่นของจมูกแล้ว เด็กๆ ต่างก็ผลัดกันดมกลิ่นของผลไม้ต่างๆ ที่ตนได้รับพร้อมทั้งบันทึกข้อมูล และตั้งสมมุติฐานไปด้วยในขณะเดียวกัน 

เมื่อถึงคราวที่ต้องพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่มเกี่ยวกับสมมุติฐานที่แต่ละคนตั้งไว้ เด็กๆ พบว่าถึงแม้กลิ่นของผลไม้ที่ดมจะเป็นกลิ่นเดียวกัน แต่สมมุติฐานที่เด็กๆ ตั้งกลับมีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นเด็กๆ จึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยผ่านการตั้งคำถาม 

น้องนิวถามว่า “ผลไม้ที่นำมาให้ดมชนิดหนึ่งมีผลเป็นสีเหลืองใช่หรือไม่”

ต้นปาล์มว่า “ผลไม้ชนิดหนึ่งที่นำมาให้ดมมีผลสีเขียว หรือสีแดง และชื่อเป็นสองพยางค์ใช่หรือไม่”

เมื่อเด็กๆ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจนเป็นที่น่าพอใจแล้วก็นำมาสู่การคาดคะเน หรือการตั้งสมมุติฐานบนพื้นฐานของข้อมูลที่ชัดเจน และมีเหตุมีผลมากขึ้น 

หลังจากการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผ่านการสัมผัส และการดมกลิ่นผ่านพ้นไปแล้ว ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือการฝึกการสังเกต และตั้งคำถามผ่านรูปภาพที่คุณครูจัดเตรียมไว้ให้เด็กๆ จะต้องสังเกตภาพผลไม้และบันทึกคำถามหรือข้อสงสัยของตนให้ได้มากที่สุด และช่วยกันตัดสินใจเพื่อคัดเลือกคำถามที่น่าสนใจมากกลุ่มละ 1 คำถาม 

คำถามของเด็กๆ มีความหลากหลายมากตั้งแต่คำถามง่ายๆ ธรรมดาๆ สามารถหาคำตอบได้โดยผ่านวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เช่น ในภาพมีผลไม้อะไรบ้าง มีผลไม้กี่ชนิด กล้วยมีความยาวเท่าไหร่ไปจนถึงคำถามที่สลับซับซ้อน หลายคำถามอาจจำเป็นต้องทำการทดลอง หรือสืบค้นข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ เช่น ทำไมผลไม้ถึงต้องวางซ้อนกัน ทำไมฟักทองถึงมีสีแดง และทำไมสตรอเบอร์รี่ถึงไม่มีเงา ขณะที่ผลไม้อื่นมีเงา เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 แก่เด็กนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากเลย คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 แก่ลูกได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ โดยการใช้มือสัมผัสท้องของแม่เพื่อส่งความรู้สึกดีๆ ไปยังลูก 

หรือเมื่อลูกยังเล็ก การฝึกประสาทสัมผัสก็อาจเริ่มจากการหัดให้ลูกได้สังเกตสิ่งของรอบตัว หรือสิ่งที่ลูกสนใจ มีการใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกการใช้ประสาทสัมผัสให้มากขึ้น เช่น ส้มมีลักษณะพื้นผิวเป็นอย่างไร แตกต่างจากแอปเปิลหรือไม่ และถ้าแตกต่าง แตกต่างอย่างไร 

หรือการกระตุ้นให้ลูกได้สังเกตธรรมชาติรอบตัวโดยผ่านการใช้คำถามอย่างง่ายๆ อาทิ ก่อนฝนตกลูกสังเกตเห็นท้องฟ้าเป็นสีอะไร และหลังฝนตก ลูกเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เหมือนหรือแตกต่างจากก่อนที่ฝนจะตก นอกจากนั้นการที่โอบกอดลูกก็ถือเป็นการฝึกประสาทสัมผัสที่หนึ่งด้วย 

                ประสาทสัมผัสถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีพัฒนาการทางการคิดที่ดี และสามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ดีขึ้น และเมื่อเด็กๆ ได้รับการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 จนมีความชำนาญแล้วย่อมนำมาซึ่งทักษะการเก็บข้อมูล โดยผ่านการเปรียบเทียบความเหมือน และความแตกต่าง อันนำไปสู่การถามคำถาม หรือการตั้งปัญหาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างผู้นำทางความคิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น